เป็นพื้นที่ให้องค์กรชุมชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา และเสนอแนะความต้องการแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทำบุญสำนักงานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคเหนือตอนบน





ได้ฤกษ์ เปิด พอช. ภาคเหนือ
มุ่งสู่ศูนย์กลางการขับเคลื่อนงานพัฒนาองค์กรชุมชนจัดการตนเอง

เชียงใหม่ : วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ สำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชน ๑๕ จังหวัดภาคเหนือ เปิดอาคารสำนักงานภาคเหนือ ณ เลขที่ ๕/๕ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางการทำงานในระดับภาคร่วมกันของขบวนองค์กรชุมชน ประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ และภาคีในท้องที่ ทั้งนี้ขบวนชุมชนและภาคีพัฒนาร่วมแสดงความยินดีกว่า ๔๐๐ คนโดยได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแสดงความยินดี

          นายฤทธิพงศ์  เตชะพันธุ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมแสดงความยินดีในวันเปิดอาคารสำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่สำคัญที่พี่น้องขบวนองค์กรชุมชน ๑๕ จังหวัดภาคเหนือ ได้มีศูนย์ประสานงาน และเชื่อมโยงการทำงานของขบวนองค์กรชุมชนกับหน่วยงานภาคราชการ ภาคประชาสังคม และภาคีต่างๆ
\        “ในการดำเนินงานของขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ ๑๕ จังหวัดภาคเหนือ ได้รับการหนุนเสริมจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ภาคประชาสังคม ภาคีต่างๆ ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ประชาชนเป็นแกนหลักในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา เพื่อให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”
         
          พลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า  กระผมมีความยินดีที่วันนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานภาคเหนือขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน และเชื่อมโยงการทำงานของขบวนองค์กรชุมชนกับหน่วยงานภาคราชการ ภาคประชาสังคม และภาคีในท้องที่ต่อไป
          “ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ขบวนองค์กรชุมชน ๑๕ จังหวัดภาคเหนือ จะได้ใช้ประโยชน์จากอาคารสำนักงานภาคเหนือแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางการประสานงานของภาคประชาชนอย่างแท้จริง”

          ทั้งนี้ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา สำนักงานปฏิบัติการภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.ภาคเหนือ มีบทบาทในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาขบวนองค์กรชุมชน ทั้งระดับตำบล จังหวัด และภูมินิเวศน์ และได้กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมในระดับภาคร่วมกัน ส่งผลให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของขบวนองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคีพัฒนาขึ้น ในพื้นที่ทั้ง ๑๕ จังหวัดภาคเหนือ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “การฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น” ที่เน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อให้เกิด “การจัดการตนเอง” ของชุมชนท้องถิ่น
          ส่งผลให้เกิดขบวนการพัฒนา โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งอย่างเป็นรูปธรรมอาทิ การสนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท หรือ โครงการบ้านมั่นคง ในเขตเมืองจำนวน ๑๓ จังหวัด ๑๐๒ โครงการ ๓๙๖ ชุมชน มีผู้ได้รับผลประโยชน์ จำนวน ๑๑,๐๐๐ ครัวเรือน , การสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล จำนวน ๖๔๕ กองทุน คิดเป็นร้อยละ ๔๔ ของพื้นที่ตำบล/เทศบาล ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพโดยชุมชน เน้นการพึ่งตนเองและการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ครอบคลุมสมาชิก ๔๐๐,๐๐๐ ราย และมีทุนหมุนเวียน จำนวน ๗๖ ล้านบาท , การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนของคนในชุมชนท้องถิ่น มีสภาฯ จัดตั้งแล้ว จำนวน ๔๕๖ ตำบล มีกลุ่มองค์กร ๑๙,๐๐๐ กลุ่ม  , การสนับสนุนตำบลจัดการตนเอง โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ผนึกพลังชุมชนท้องถิ่น จัดการตนเอง เพื่อให้ได้แผนพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นระดับตำบลและดำเนินการแก้ปัญหาของตนเอง รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการประสานแผนงาน/ทรัพยากรกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานสนับสนุน มีผลการดำเนินงาน ๕๔๓ ตำบล

          นางทิพย์รัตน์  นพลดารมย์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีปรัชญาสำคัญในการขับเคลื่อนงาน คือ การสนับสนุนให้องค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในการพัฒนา ถือว่าวิธีทำสะท้อนวิธีคิด เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภายใต้ยุทธศาสตร์องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดย พอช. มีสำนักงานส่วนภูมิภาค จำนวน ๑๑ สำนักงาน เป็นศูนย์กลางการประสานงานและเชื่อมโยงการทำงานของขบวนองค์กรชุมชนและภาคีพัฒนาในระดับภาค ครอบคลุมพื้นที่ ๗๗ จังหวัด
          “สำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนงานพัฒนา คือ พัฒนากลไกที่มีพื้นที่กลาง ที่มีบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนงานพัฒนารวมทั้งออกแบบการทำงานชุมชนระหว่างเจ้าหน้าที่และขบวนองค์กรชุมชนในระดับภาค เพื่อเชื่อมประสานระบบงานพัฒนาระดับพื้นที่ทั้งระดับตำบล จังหวัด และภาค ร่วมกับภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ และภาคีพัฒนา จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ในระบบวิธีคิด ระบบโครงสร้าง ความสัมพันธ์ และการบริหารงบประมาณ เกิดนวัตกรรมใหม่โดยมีการขับเคลื่อนงานจากฐานรากสู่นโยบาย เพื่อให้ภาคประชาชนมีที่ยืนทางสังคม มีความเชื่อมั่นในคุณค่าและศักยภาพของตนเอง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการขับเคลื่อนงานขบวนองค์กรชุมชนจะได้รับความร่วมมือจากภาคีหน่วยงานต่างๆ โดยมีสำนักงานภาคเหนือเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ต่อไป”

          ด้านนายประทีป  บุญหมั้นผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา จากการที่ได้ทำงานเป็นทั้งกรรมการร่วมระดับภาคและเป็นตัวแทนชาวบ้าน ในช่วงที่ผ่านมาเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก คือ มีงานพัฒนาที่เกิดที่ภาคและที่จังหวัดมากขึ้น ที่เกิดจากนโยบายการกระจายการสนับสนุนงานพัฒนาลงท้องถิ่น การเข้าร่วมงานกับ พอช. มีความพึงพอใจที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นชาวบ้านมีส่วนร่วม และเข้ามาทำงานร่วมกันมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ต่างคนต่างทำ เห็นว่าตำบลมีการจัดทำข้อมูลมากขึ้น และส่งข้อมูลมาที่จังหวัด ทำให้จังหวัดมีข้อมูลที่เป็นจริงในการวางแผนพัฒนา มีสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมการทำงาน ทั้งเมืองและชนบท มีบทบาทในการทำงานร่วมกันมากขึ้น
          “และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บ้านใหม่หลังที่สองของหมู่เฮา จะเป็นสถานที่ใช้ในการเชื่อมโยงและทำงานของภาคชาวบ้าน และหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่จะได้เชื่อมงานจากข้างล่างสู่ระดับนโยบายต่อไป”

          ครูมุกดา  อินต๊ะสาร เครือข่ายสวัสดิการชุมชน จ.พะเยา  กล่าวว่า เราพยายามต่อสู้เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาจัดการตนเองได้ เรามีบทเรียนประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง โดยใช้ทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ขบวน พอช. เป็นแนวทางที่ดีมากในการเปิดพื้นที่และหาข้อมูลเพื่อหนุนเสริมขบวนองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง”

          สำนักงานปฏิบัติการภาคเหนือ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๕/๕ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วยห้องประชุมใหญ่ ศูนย์ประสานงานชาวบ้าน ๑๕ จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานงานระหว่างขบวนองค์กรชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคีพัฒนาในระดับภาคเหนือ

เรียบเรียงโดย  นภาพร  สุวรรณศักดิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น