เป็นพื้นที่ให้องค์กรชุมชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา และเสนอแนะความต้องการแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

3ปี “สภาพัฒนาการเมือง” กับคำถามท้าทาย “จะอยู่หรือไปต่อ?

เขียนโดย อมราวดี อ่องลา:วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2011

ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ โดยสำนักงานข่าวอิสรา


การเมืองภาคพลเมืองถูกคาดหวังให้เป็นฐานพัฒนาการเมืองประเทศ โดยมี “สภาพัฒนาการเมือง” ถือกำเนิดตามรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระขับเคลื่อน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า 3 ปีที่ผ่านไปเกิดรูปธรรมอะไร และอิสระจริงหรือภายใต้สถาบันพระปกเกล้า โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนพาไปสะท้อนนานาทัศนะ….

ย้อนไป 23 มกราคม 2551 ประเทศไทยคลอดพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สภาพัฒนาการเมือง ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง และมีสภาพัฒนาการเมืองที่มีความเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

องค์กรอิสระน้องใหม่ในนาม “สภาพัฒนาการเมือง” จึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีองค์ประกอบจากภาคส่วนต่างๆ122 คน โดยให้สำนักงานสภาฯ เป็น หน่วยงานอิสระในสถาบันพระปกเกล้า เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งเป็นหน่วยธุรการและวิชาการ ภายใต้การควบคุมดูแลของประธานสภาฯ

ทั้งยังกำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองขึ้น ใน สถาบันพระปกเกล้า เพื่อช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการการรวมกลุ่มประชาชนในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถ แสดงความคิดเห็นความต้องการของชุมชนในพื้นที่ด้วย

จากก้าวแรก ผ่านห้วงเวลาหัดเดิน ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญทั้งจัดทำแผนพัฒนาการเมือง ซึ่งวันนี้อยู่ระหว่างการติดตามสอดส่องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำสู่การ ปฏิบัติ การทำงานเชิงพื้นที่ภายใต้โครงการขับเคลื่อนประชาธิปไตยชุมชน การสนับสนุนกองทุนเพื่อพัฒนาการเมืองจากระดับรากหญ้า และอื่นๆ

ถึงเวลาทบทวน “สภาพัฒนาการเมือง” ควรไปหรืออยู่

วันนี้ สภาพัฒนาการเมือง หรือ สพม. เดินทางมาครบ 3 ปี ซึ่งตามบทเฉพาะกาลใน พ.ร.บ.นี้ระบุไว้ในมาตรา 41 เมื่อครบกำหนด 3 ปี ให้พิจารณาทบทวนว่าสมควรยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้มีการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองเป็นการเฉพาะหรือสมควรแก้ไขเพิ่มเติม ในประเด็นอื่นหรือไม่

โดยเบื้องต้น สพม.ได้ตั้งคณะทำงานมี สน รูปสูง รองประธาน สพม.คนที่ 1 เป็นประธานคณะทำงานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ ล่าสุดเห็นเค้าโครงจากภาคตะวันออกและอีสานบ้างแล้ว

ลุงสน ชี้แจงว่าการทบทวนครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ กฎหมาย เป็นเรื่องการพิจารณาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างองค์กร วัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ องค์ประกอบของสมาชิก และที่สำคัญคือตัวสำนักงานว่าควรอยู่หรือไปจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงประเด็นกองทุนพัฒนาการเมืองฯ ด้วย

“คือตัวสำนักงานฯ-กองทุนตอนนี้อยู่ในพระปกเกล้า ประเด็นนี้จึงมีการถกเถียงกันค่อนข้างมาก มีความเห็นแตกเป็น 2 ส่วน ส่วนใหญ่ก็อยากออกมาเป็นอิสระ มีส่วนน้อยมากที่อยากอยู่ต่อ เพราะยังไม่มั่นใจจึงอยากอยู่กับพระปกเกล้าฯไปก่อน”

ซึ่งหากมองถึงเจตนารมณ์เริ่มแรกแห่งรัฐธรรมนูญ ก่อนมีการประกาศเป็น พ.ร.บ. “สภาพัฒนาการเมือง”ในความหมายที่ทุกคนเข้าใจ จะพ่วงท้ายด้วยคำว่า “องค์กรอิสระ” เสมอ

ประเด็นนี้ รองประธาน สพม. ย้อนความว่าตามที่เข้าใจการเกิดใหม่ขององค์กรในระยะนั้น เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ มีผลต่อการจ่ายงบประมาณซึ่งไม่เพียงพอหากจะตั้งเป็นองค์กรใหม่ จึงจำเป็นต้องอิงแอบกับที่ใดที่หนึ่ง เหมือนช่วงแรกของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ต้องอาศัยสำนักงาน เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเวลากว่า 2 ปี

ดังนั้น พ.ร.บ. เดิมที่ประชาชนเป็นผู้ยกร่าง จึงถูกแปรญัติติกระทั่งมีรูปร่างหน้าตาดังที่เห็น...การเตรียมปรับโฉมครั้ง ใหม่ จึงเห็นแนวโน้มความต้องการให้กลับไปยึดเจตนารมณ์ฉบับประชาชนอีกครั้ง

ปรับโครงสร้างสมาชิกให้เป็นเอกภาพ-สมส่วน

อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกคือ จำนวนสมาชิก 122 คนมากไปหรือไม่ อีกทั้งในจำนวนนี้ยังเป็นสัดส่วนที่มาจากสภาองค์กรชุมชนถึง 76 คน (มากกว่าครึ่งของสภาฯ) ซึ่ง ลุงสน บอกว่าในแง่การทำงานส่วนของตัว แทนชาวบ้านก็มีทั้งข้อดีข้ออ่อน ข้อดีคือคนกลุ่มนี้เป็นตัวแทนจากพื้นที่ ที่เข้าใจบทเรียน ประสบการณ์ มีจุดยืนอยู่กับชุมชนจริง ไม่มีปัญหาในการเชื่อมโยงกับข้างล่าง และสัดส่วนเพียงจังหวัดละ 1 คนก็ไม่ได้มีการท้วงติงใดๆ มีเพียงนิดหน่อยที่เสนอว่าให้กำหนดเกณฑ์ที่มาของสมาชิกเสียใหม่

“เพราะทั้ง 76 คนไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นเนื้อแท้ จำนวนหนึ่งมีปัญหาในการปรับตัว ความไม่เอกภาพจึงเป็นปัญหาในการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์การพัฒนาข้างล่างให้เข้มแข็ง” ลุงสน ชี้ให้เห็นภาพ และว่า

จากเสียงสะท้อนที่ควรปรับน่าจะเป็นสัดส่วนภาคประชาสังคมที่เดิมมีเพียง 16 คนให้มากขึ้น ด้วยเห็นว่าจะเป็นกลไกเชื่อมโยงการขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ และการปรับลดหรือยุบในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิโดยตำแหน่ง ซึ่งชื่อก็บอกว่าโดยตำแหน่ง ภาระงานก็คงมากจึงไม่มีเวลาร่วมประชุม จึงไม่ได้เห็นบทบาทที่ประชาชนคาดหวังเท่าไรนัก

ปลดแอกจาก “สถาบันพระปกเกล้า” ตัดวงจรงบงูกินหาง

ขณะที่ พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ให้ความเห็นว่า สถาบัน พระปกเกล้าอยู่ภายใต้รัฐสภา ทำให้ สพม.เองก็ไม่มีอิสระทางการเมืองด้วย ผิดเจตนารมณ์การก่อตั้งอยู่แล้ว โดยความเห็นส่วนตัว การผูกติดแบบนี้เป็นอุปสรรคหลายเรื่องโดยเฉพาะงบประมาณที่ต้องขอภายใต้ สถาบันพระปกเกล้าเช่นกัน

แต่ที่พูดเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าไม่มีงบแล้วทำงานไม่ได้ แต่ทำงานลำบาก นี่เป็นเรื่องจริงที่ต้องยอมรับ ปัญหาแบบนี้เหมือนงูกินหาง คือทางสำนักงบไม่เห็นผลงาน ขณะที่ผลงานเกิดไม่ได้เมื่อไม่มีงบ...

พท.กมลพรรณ เล่าว่า สพม.เองยังมีปัญหาในการบริหารจัดการงบประมาณภายในที่ไม่ทั่วถึง บางจังหวัดควรให้มากกลับได้น้อย เพราะวิธีการจัดสรรจะให้เป็นรายภาค ไม่ได้แบ่งตามเนื้องานที่ควรเป็น เรื่องกองทุนฯก็เหมือนกัน บางครั้งซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น การคัดเลือกคนเข้ารับก็มีปัญหา

และที่เห็นสอดคล้องคือองค์ประกอบสมาชิกซึ่งเป็นอุปสรรค เพราะที่มาหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นนักปฏิบัติเชิงพื้นที่ แต่ยังขาดความรู้ทางวิชาการ บางส่วนไม่ได้ทำงาน มาประชุมรับเบี้ยเลี้ยงแล้วเดินทางกลับ ซึ่งน่าจะมีวิธีแก้ปัญหาได้ด้วยการเพิ่มที่ปรึกษาทางวิชาการสำหรับสมาชิก ซึ่งบางส่วนคัดค้านว่ามีอยู่แล้วในฐานะสมาชิกโดยตำแหน่ง แต่คำถามคือเขาว่างมาช่วยเราหรือ??

“เราเห็นเสียงสะท้อนที่น่าสนใจบอกถ้าปรับเรื่องสมาชิกไม่ต้องให้เป็น มาจากสภาองค์กรชุมชนได้ไหม นี่แหล่ะถูกต้องเลย จริงๆควรเป็นตัวแทนที่มาจากชุมชนที่ทำงาน เพราะปัญหาคือบางทีสภาองค์กรชุมชนก็แค่อุปโลกน์ขึ้นมา”

ส่วนสัดส่วนไม่ได้กังวล ด้วยเหตุผลว่า 122 คน เป็นตัวแทนชาวบ้าน 76 คน จังหวัดละ 1 คน น่าจะเหมาะสมเพราะขอบเขตพื้นที่การดูแลกว้าง แต่หากข้อเสนอระบุว่าเห็นควรปรับลดจริง ในแง่คนทำงานก็คงไม่ยอมแน่ คิดง่ายๆแค่โหวตในสภาฯก็ไม่ทางชนะแล้ว เพราะมีกัน 76 เสียง เกินครึ่ง!!

แนะคัดเลือกคนให้ตรงงาน ไม่เกี่ยวสภาองค์กรชุมชน

ศรายุทธ อินทะไชย์ สมาชิก สพม.จ.ร้อยเอ็ด ในฐานะตัวแทน จากพื้นที่ ชี้แจงเสียงดังฟังชัดว่าการคัดเลือกสมาชิกที่มาจากสภาองค์กรชุมชน เดิมทีกำหนดขึ้นโดยที่ตัวคนทำงานเองก็ไม่เห็นเนื้องาน ผ่านไปสักระยะจึงเห็นว่าการพัฒนาการเมืองเป็นเรื่องระดับชาติที่ต้องอาศัย สมาชิกที่มีความพร้อมหลายด้าน

“งานใหญ่” สำหรับคนที่มาจากหลากหลาย มีองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ประสบการณ์ แต่ขาดทักษะทางการประสาน การทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น หากเกาให้ถูกที่คันต้องไม่ใช่การเปลี่ยนวิธีคัดเลือกหรือ “ทิ้ง”สภาองค์กรชุมชน เพราะสภาองค์กรชุมชนก็มาจากชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ซึ่งคือศูนย์รวมพื้นที่อยู่แล้ว

เพียงแต่ “หาคนให้ใช่กับงาน” แบบนี้ อาจง่ายกว่า??

ศรายุทธ ยังว่าสำหรับการทบทวนมาตรา 41 ครั้งนี้ หลักการคือต้องการให้มีความเป็นอิสระ ซึ่งเห็นด้วยว่าในแง่โครงสร้างคงต้องกำหนดให้ชัดเจน แต่โดยหลักการทำงานคงต้องร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าอยู่ เนื่องจากยังมีงานที่มีส่วนเชื่อมร้อย โดยเฉพาะวิชาการที่ต้องอาศัยข้อมูลจากสถาบันฯ อีกมาก

“โครงสร้างในที่นี้คือตัวสำนักงาน จะทำอะไรต้องรอคำตัดสินจากบางท่าน ไม่คล่องตัว ไม่ทันสถานการณ์และงบประมาณที่ควรบริหารจัดการเองได้แล้ว เพราะการพัฒนาการเมืองเป็นเป้าหมายใหญ่ งบที่ได้ควรสมดุล แต่ปัจจุบันได้แค่นิดเดียว ไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายที่วางไว้” ศรายุทธ ทิ้งท้าย

………………………………………..

ข้อคิดเห็นทั้งหมดจะมีการรวบรวมและนำไปปรับปรุงเพื่อยกร่างกฎหมายตามกรอบ ที่วางไว้ ขั้นตอนสุดท้ายคือนำเข้าสภาผู้แทนราษฎร ต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ระหว่างนี้งานที่ทำอยู่เดิมก็คงดำเนินต่อไป

แต่สิ่งที่สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองกล่าวเป็นเสียงเดียวกันคือระยะเวลา 3 ปีมานี้ กว่าจะทำให้เป้าหมาย ทิศทางของสภาฯชัดเจน กว่าจะเรียนรู้บทบาทหน้าที่และเข้าใจตรงกันต้องใช้เวลามาก เมื่อบทบัญญัติกำหนดว่าเมื่ออยู่ครบ 4 ปี ทั้งหมดจะต้องถอยหลังแบบสมัครใจ เพื่อให้ชุดใหม่ทำหน้าที่แทน อาจต้องเริ่มเรียนรู้กันใหม่อีก นั่นคือปัญหาที่คนภายในห่วง

และที่ห่วงมากกว่านั้นคือต่างคนต่างไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ข้างหน้าของกฎหมาย “สภาพัฒนาการเมือง” ฉบับผ่านการทบทวนจะเป็นอย่างไร จังหวะคลอดซ้ำจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะตัวแปรจากการเมืองระดับใหญ่มากมายเหลือเกิน.