เป็นพื้นที่ให้องค์กรชุมชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา และเสนอแนะความต้องการแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์ก้าวใหม่ จังหวัดเชียงรายจัดการตนเอง

 

สัมมนาเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองจังหวัดเชียงราย         ในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ก้าวใหม่สู่การจัดการตนเอง
๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๖
ณ โรงแรมโพธิ์วดลรีสอร์ทแอนด์สปา เชียงราย


           เป็นการรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงาน ของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จังหวัดเชียงราย การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ที่มีรูปธรรม ที่มีชีวิต มีระบบข้อมูล  มีผลการพัฒนาที่ต่อเนื่อง ทั้ง  ๗  แผนยุทธศาสตร์  ที่แสดงให้เห็นพลังขององค์กรชุมชนและประชาชนในการจัดการชุมชนท้องถิ่น  เช่น  การจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ที่เน้นการพัฒนาระบบข้อมูลและการใช้ประโยชน์ที่ดินในระดับตำบลและจังหวัด ๑๑ อำเภอ ๑๙ ตำบล ๖๘ บ้าน    การจัดสวัสดิการชุมชน  โดยการร่วมออมวันละบาท   ในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระดับตำบล ๑๐๓ กองทุน  การให้ความรู้และช่วยเหลือเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ๑๘ ศูนย์ ๑๘ อำเภอ  การเสริมสร้างสภาองค์กรชุมชนตำบลให้เข้มแข็ง  โดยร่วมกันวิเคราะห์ชุมชนเพื่อกำหนดแผน ๑ ตำบล ๑ แผนยุทธศาสตร์พัฒนา ๓๐ ตำบล  การจัดการภัยพิบัติ ๔ ตำบล มีแผนในการเฝ้าระวังภัยจากธรรมชาติร่วมกันระดับตำบล  ส่วนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมการเมืองภาคพลเมือง    เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย  ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ "สภาคนฮักเจียงฮาย"  ในการขับเคลื่อนพลังพลเมืองสู่   "จังหวัดจัดการตนเอง"

           พอถึงช่วงการเสวนา "ยุทธศาสตร์ก้าวใหม่จังหวัดเชียงราย สู่การจัดการตนเอง"  มีวิทยากรร่วมเสวนา จำนวน ๖ ท่าน  ประกอบด้วย   อาจารย์นิคม  บุญเสริม  มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย   คุณวิรัตน์  พรมสอน  สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง   คุณสลักจฤฎดิ์  ติยะไพรัช  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย  คุณวิรุณ  คำภิโล  ประธานหอการไทยภาคเหนือตอนบน๒   คุณปรีดี  โชติช่วง  รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง  และคุณปฏิภาณ  จุมผา  ผู้จัดการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนภาคเหนือตอนบน  และมีคุณเทวินฎฐ์  อัครศิลาชัย  ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา   วิทยากรแต่ละท่านมีมุมมองที่แตกต่างกันไป   เช่น
            คุณวิรุณ  คำภิโล  ชี้เรื่องการค้าการพัฒนาเศษฐกิจและการเปิดประตูสู่อาเซียน   เราจะต้องจัดการเรื่องระบบภาษีที่เป็นรายได้ของจังหวัด  
            อาจารย์นิคม    บุญเสริม  มองว่าการจัดการตนเอง  คือ การกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้โดยคนในชุมชนท้องถิ่น  ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจและมีคำสั่งมาจากส่วนกลาง 
           คุณปฏิภาณ   จุมผา  มองการจัดการตนเอง  คือ   คนในชุมชนท้องถิ่นต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง   และต้องไม่ตกหลุมดำ  ๔  ข้อ  คือ   ๑) วิธีคิดของตนเอง  ๒)โครงสร้างการพัฒนา   ๓)ระบบงบประมาณ   ๔) ระบบกฎหมาย  ถ้าเราติดหลุมดำ ๔ ข้อ  เราก็ไม่สามารถจัดการตนเองได้
          คุณวิรัตน์  พรมสอน  ย้ำว่า   สิ่งที่ประชาชนควรทำที่สุด  คือ  ความกล้า  กล้าที่จะคิดสิ่งใหม่  กล้าที่ทำ   เนื่องจากการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมา กว่า ๑๗๐ ปี ที่ผ่านมา  พบว่าจังหวัดเชียงรายมีผู้ว่าราชการจังหวัด  ถึง  ๔๙ คน  รวมถึงคนปัจจุบัน  แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้  เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง    แนวทางการจัดการตนเอง   จะต้อง "ปิ้นสุ่ม"  (หงายสุ่ม)  เพื่อปลดปล่อยความเชื่อและค่านิยมแบบเดิม
           นายก  สลักจฤฎดิ์  ติยะไพรัช  พร้อมหนุนการจัดการตนเองของจังหวัดเชียงราย  ซึ่งการบริหารจัดการท้องถ่ิน  มีระเบียบปฏิบัติ  ต้องอยู่ในคำสั่ง  และงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรลงมาพื้นที่  ก็มีจำนวนน้อยนิด  เมื่อเปรียบเทียมกับภาษีที่จัดเก็บได้ภายในจังหวัด  และการจัดสรรวงเงินงบประมาณขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ จากส่วนกลาง     ดังนั้นแนวทางการจัดการตนเองระดับจังหวัด  จะต้องกระตุ้นให้ทุกท้องถิ่นตื่นตัวและเข้ามีส่วนร่วมมากขึ้น   รวมถึงการบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน   

          ที่ประชุมจึงเห็นร่วมกันว่า   สิ่งที่เราต้องทำร่วมกันคือ  
          ๑)   ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตนเอง  จากผู้ถูกปกครอง  เป็นผู้ที่่สามารถปกครองตนเองได้ โดยสภาพลเมือง
          ๒)ต้องมีการจัดการรูปแบบใหม่  ต้องบูรณาการงานทุกภาคส่วนและสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง
          ๓)การบริหารข้อมูลวิชาการเป็นสิ่งสำคัญ  โดยสถาบันทางวิชาการให้การสนับสนุน หนุนเสริมข้อมูล
       
          ภาระกิจร่วมในการขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง  เพื่อการปลดเปลี้องพันธนาการอำนาจจากส่วนกลาง   คือ
          ๑)การประกาศใช้ พระราชบัญญัติจังหวัดจัดการตนเอง
          ๒)การศึกษาประวัติศาสตร์ รากเหง้าของตนเอง เพื่อยกระดับสู่การขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง
          ๓) กาประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง
          ๔) การกำหนดเป้าหมายร่วม
          ๕) การจัดทำข้อตกลงร่วมในการพัฒนาเป็นธรรมนูญจังหวัด  หรือเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นระดับจังหวัด

          พลังพลเมือง จังหวัดเชียงรายได้ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓  และขยายพลังพลเมืองพลังภาคีความร่วมมือออกไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นแบบช้า ๆ  แต่เป็นก้าวย่างที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชน สังคม จังหวัดของตนเอง

วิไล  นาไพวรรณ์
คณะทำงานกองเลขา
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จังหวัดเชียงราย
รายงาน