เป็นพื้นที่ให้องค์กรชุมชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา และเสนอแนะความต้องการแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สภาองค์กรชุมชนตำบลปอ

ตำบลปอ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงเป็นส่วนใหญ่ มีที่ราบระหว่างเชิงเขาเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยระหว่างเทือกเขาดอยยาว ดอยผาหม่นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑,๖๓๕ เมตร พื้นที่ป่าบางส่วนยังมีความอุดมสมบูรณ์ตามบริเวณแนวชายแดนที่ติดกับสาธารณะรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว มีสัตว์ป่าหลายชนิด บางส่วนถูกบุกรุกเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด หอมหัวใหญ่ ผักเมืองหนาวและไม้ผล ลำไย ส้ม ส้มโอ แต่ปัจจุบันเกษตรกร หันมาปลูกยางพารามากขึ้น และเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะดอยผาตั้งซึ่งเป็นหมู่บ้านของผู้อพยพทหารจีนคณะชาติกองพลที่ ๙๓ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง หน่วยงานทหาร และองค์การบริหารส่วนตำบลปอ มีระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงราย ๑๖๔ กิโลเมตร ประชากรทั้งสิ้น จำนวน ๔,๓๖๗ หลังคาเรือน ๑๕,๖๗๔ คน ชาย ๘,๒๒๖ คน หญิง ๗,๗๔๘ คน มีชนเผ่าที่หลากหลาย อาทิเช่น ไทลื้อ อาข่า จีนคณะชาติ ม้ง และคนพื้นเมือง

ที่ผ่านมามีกระบวนการทำงานพัฒนามาอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายชมรมม้ง ๕ จังหวัดภาคเหนือ ตอนบน ต่อมาได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายในระดับพื้นที่ คือ เครือข่ายเกษตรดอยยาว- ดอยผาหม่นขึ้นโดยมีสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายทรัพยากรที่ดินจังหวัดเชียงรายให้การหนุนเสริม เครือข่ายมีพื้นที่ครอบคลุม ตำบล อำเภอ คือ ต.ปอ อ.เวียงแก่น ต.ตับเต่า อ.เทิง และ ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล มีการขับเคลื่อนงานในประเด็นการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ส่วนประเด็นอื่น ๆ ก็มีการทำงานแบบควบคู่กันไป เช่น ประเด็นทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ ศูนย์เรียนรู้ทางวัฒนธรรม ชนเผ่าม้ง ฯลฯ

สภาองค์กรชุมชนตำบลปอ จัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยมีหมู่บ้านเข้าร่วมในการจัดตั้งสภาฯ จำนวน หมู่บ้านจาก ๒๐ หมู่บ้าน มีองค์กรชุมชนจำนวน ๒๙ กลุ่ม โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าม้ง ส่วนคนพื้นเมืองยังไม่เข้าร่วมในการจัดตั้งสภาฯ และต่อมาได้มีการจัดแจ้งกลุ่มเพิ่มอีกจำนวน ๕ กลุ่ม รวมเป็น ๓๔ กลุ่ม โดยมียุทธศาสตร์การทำงาน ๗ เรื่อง โดยเน้นยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นประเด็นหลัก




วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เชียงรายมหานคร จังหวัดจัดการตนเอง


คำ ว่า "จัดการตนเอง" เิป็นวาทะหนึ่งของกระแสสังคมในปัจจุบัน ทำให้มีความเข้าใจแตกต่างกันไป บ้างก็ว่า เป็นการแบ่งแยกดินแดน เป็นรัฐอิสระเพื่อปกครองตนเอง และเป็นกระบวนการขับเคลื่อนที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

คำตอบ ก็คือ เป็นการขับเคลื่อนภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามมาตรา ๒๘๑ มาตรา ๗๘(๓) มาตรา ๑๖๓ เป็นกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารประเทศ ให้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง จึงเป็นกระบวนการที่ต้องการความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนเชียงราย ทุกคน ทุกภาคส่วน เข้ามาร่วมกัน
มีเป้าหมาย เพื่อ
๑) ตั้งปณิฐานที่จะพึ่งตนเอง
๒) มีความรักเชียงรายเป็นพื้นฐาน
๓) มีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนา
๔) ร่วมขับเคลื่อนโดยพลังภาคพลเมือง
๕) เคารพในความหลากหลายทางความคิดและชาติพันธุ์

จังหวัดเชียงราย จึงเป็นจังหวัดหนึ่ง ใน ๔๕ จังหวัดของประเทศไทย ที่มีการรวมตัวกันของหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายฯ ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง อาทิเช่น สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จังหวัดเชียงราย เครือข่ายหมอเมือง สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย สื่อมวลชน วิทยาลัยนานาชาติลุ่มน้ำโยง สมาคมพัฒนาประชากร PDA มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม กศน.อำเภอเทิง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย โรงเรียนวิรุณบริหารธุรกิจ ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเชียงราย ศูนย์ประสานงานภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง สำนักข่าวพลเมืองอภิวัฒน์ มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา เครือข่ายผู้เสียโอกาศกลุ่มชา่ติพันธุ์ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปและคนจนเมือง ฯลฯ ทุกกลุ่ม เครือข่าย องค์กร ต่าง ๆ ล้วนแต่มีความห่วงใยความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ จังหวัดเชียงราย
ซึ่งเดิมประวัติศาสตร์เมืองเจียงฮาย ถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมาช้านาน ตามตำนาน "เวียงปึกษา"

จากการขับเคลื่อนมาเกือบปี เชียงรายมหานคร จังหวัดจัดการตนเอง มีิทิศทางแผนงานร่วมกัน "สภาคนฮักเจียงฮาย) ดังต่อไปนี้
๑) จัดประชุมคณะทำงานที่มาจากองค์กรต่าง ๆ ทุกเดือน
๒) จัดเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ประเมินการขับเคลื่อน
๓) ศึกษาข้อมูลศักยภาพ ภาพรวม/วิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล
๔) ยกร่าง พรบ. การบริหารราชการท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย
๕) ประสาน ภาคีเครือข่าย หน่วยงานทุกภาคส่วน
๖) พัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์
๗) พัฒนาพื้นที่รูปธรรมนำการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม สภาคนฮักเจียงฮาย หรือเชียงรายมหานคร จังหวัดจัดการตนเอง เป็นเพียงจุดเริ่มต้น จะสามารถขับเคลื่อนให้เป็นจริงได้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับคนเชียงรายทุกคนที่จะเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป