เป็นพื้นที่ให้องค์กรชุมชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา และเสนอแนะความต้องการแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาจังหวัดเชียงราย

จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยยุคอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน
ตั้งอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย มีเขตชายแดนติดต่อกับประเทศสหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากกรุงเทพฯระยะทาง 785 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 11,678.369 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,298,981 ไร่
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงในทวีปตอนเหนือ(North Continental Highland) มีที่ราบสูงเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้าและอำเภอเชียงของ บริเวณเทือกเขามีชั้นความสูง 1,500 - 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนบริเวณที่ราบที่มีระดับต่ำสุด คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง อยู่ทางตอนใต้ของอำเภอเชียงของ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงและป่าไม้ จึงทำให้ระดับอุณหภูมิในแต่ละฤดูแตกต่างกันมาก ในปี พ.ศ.2549 จังหวัดเชียงรายมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 37.6 องศาเซลเซียส ในเดือนพฤษภาคม และอุณหภูมิต่ำสุดเพียง 8.8 องศาเซลเซียสในเดือนธันวาคม
ด้านการปกครองแบ่งออกเป็น 18 อำเภอ 124 ตำบล 1,751 หมู่บ้าน การปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 1 แห่ง, เทศบาลนครเมือง จำนวน1 แห่ง เทศบาลตำบลจำนวน 26 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 117 แห่ง มี ประชากรทั้งสิ้นจำนวน 1,225,713 คน เป็นชาย 606,390 คน เป็นหญิง 619,323 คน ประชากรที่อยู่ในเขตเทศบาล 221,876 คน คิดเป็นร้อยละ 18.10 ส่วนที่เหลือ 1,003,837 คน อยู่นอกเขตเทศบาล ลักษณะประชากรประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายชาติพันธ์ อาทิเช่น ไทยญวน ไทเขิน ไทลื้อ อาข่า ปกาเกอญอ ม้ง เมี้ยน ลาหู่ อีสาน ฯลฯ
โครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย ยังเน้นภาคเกษตรกรรมมาโดยตลอด สาขาการผลิตที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ สาขาเกษตรกรรมและประมง มีมูลค่า 15,942 ล้านบาท สำหรับสาขาขายส่งขายปลีกมีมูลค่า 9,396 ล้านบาท และสาขาการศึกษามีมูลค่า 4,677 ล้านบาท ตามลำดับ (ข้อมูล GPP at current market prices 2006)และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อหัว 38,332 บาท ซึ่งเป็นลำดับที่ 16 ของภาคเหนือและเป็นลำดับที่ 59 ของประเทศ พืชทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย คือ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ขิง กระเทียม ไม้ผลได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ ส้มโอ พืชผัก และชา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของจังหวัด
ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย ซึ่งสามารถปลูกได้ทุกอำเภอ โดยเฉพาะพันธุ์ข้าว ก.ข.6 ประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด สามารถปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง คือข้าวนาปีและข้าวนาปรัง ในปี 2549 ข้าวเหนียวนาปี จำนวน 904,432 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว จำนวน 885,352 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 660.6 กก./ไร่ ข้าวเจ้านาปีมีจำนวน 483,502 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยวจำนวน471,097 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 590.3กก./ไร่ แหล่งเพาะปลูกข้าวเหนียวที่สำคัญได้แก่อำเภอพาน เมือง เทิง พญาเม็งราย แม่จัน เวียงชัย และเชียงของ ส่วนข้าวเจ้านาปีได้แก่ อำเภอป่าแดด พาน เทิง และแม่สาย ข้าวนาปรังจะเพาะปลูกในเขตที่มีน้ำชลประทาน รวมพื้นที่ ข้าวเหนียวนาปรัง จำนวน 61,910 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว จำนวน 61,910 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 595.8 กก./ไร่ ข้าวเจ้านาปรังจำนวน 147,677 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยวจำนวน 147,354 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 810.1กก./ไร่ พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ อยู่ที่ อำเภอแม่จัน แม่สาย เวียงชัย เมือง และแม่ลาว
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกพืชหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ทำการเพาะปลูกได้ 2 รุ่น คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ฤดูแล้ง) และข้าวโพด (ฤดูฝน) โดยในปี 2549 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ฤดูแล้ง) มีเนื้อที่เพาะปลูก จำนวน 26,506 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว จำนวน 8,924 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 746.2 กก./ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ฤดูฝน) มีเนื้อที่เพาะปลูก จำนวน 444,901 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว จำนวน 414,393 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 734.0 กก./ไร่ แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ อำเภอเทิง เชียงของ แม่สรวย พญาเม็งราย เวียงป่าเป้า เชียงแสน เวียงแก่น และเมือง
นอกจากการทำเกษตรกรรมแล้วจังหวัดเชียงรายมีการเลี้ยงสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และสัตว์เล็กได้แก่ การเลี้ยงกระบือ โค สุกร เป็ดและไก่ เป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากอาชีพในการปลูกพืช ตลอดจนการทำอาชีพประมง ประชาชนจะอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำคำ และแม่น้ำลาว และการเลี้ยงปลาในบ่อในนา ได้แก่ ปลาไน ปลานิล ปลานวลจันทร์เทศ ฯลฯ อำเภอที่มีการเลี้ยงปลาจำนวนมาก ได้แก่ อำเภอเมือง พาน และเวียงชัย นอกจาการเลี้ยงปลาในบ่อยังมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูปลาไทย ได้แก่ ปลาบึก ซึ่งเป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีถิ่นอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง มีการจับปลาบึกเป็นประจำทุกปีที่บ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ
จากลักษณะของพื้นที่จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ชายแดนภายใต้แผนพัฒนาอนุภูมิลุ่มน้ำโขง ทำให้เชียงรายเป็นจังหวัดที่เปิดประตูการค้า การลงทุน ดังวิสัยทัศน์แผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2556 ที่ว่า “เมืองทองของวัฒนธรรมล้านนา นำการค้าสู่สากล ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข” ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับ พัฒนาการค้า การลงทุนและโลจิตติกส์เชื่อมโยงสู่สากล การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม การสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า ไว้ในลำดับต้น ๆ มีประชาชนอพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบการค้า หรือขายแรงงานทั้งแรงงานในประเทศและต่างประเทศ(แรงงานต่างด้าว) และปัจจุบันมีสถานการณ์การบุกรุกปลูกพืชน้ำมันและยางพารา จึงทำให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มนายทุน

๒. กระบวนการพัฒนาขององค์กรชุมชนภายในจังหวัดเชียงราย
ขบวนองค์กรชุมชนในภาคชนบทเริ่มกระบวนงานพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ จากการประสบปัญหาความยากจนและปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมีนายวิรัตน์ พรมสอน นายสงกรานต์ โสภามาเป็นแกนนำชุมชน และยังมีเยาวชน นักวิชาการ พระสงฆ์ ท้องที่ ท้องถิ่น ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น วาย เอ็ม ซี เอ สมาคมสร้างสรรค์และสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ร่วมกันรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ป่าในประเด็นเรื่องป่าชุมชน ผลจากการดำเนินงานหลายพื้นที่ในการดำเนินงานที่มีป่าชุมชนของแต่ละหมู่บ้าน นอกจากการจัดการป่าโดยชุมชน ยังมีการส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การทำเกษตรกรรมยั่งยืน การศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่เครือข่ายต่างจังหวัด และมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระดับภาค ในนามเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) โดยร่วมร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน การเคลื่อนไหวสมัยนั้นผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การแต่งตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหา พอมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองทำให้ปัญหานั้น กลับมาเริ่มต้นที่เดิม
ต่อมา ได้เริ่มก่อตั้งเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดเชียงรายประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงมีวิเคราะห์ปัญหาความยากจนของเกษตรกรอีกครั้ง และค้นพบว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชนจะต้องเป็นผู้ที่สามารถควบคุมปัจจัยผลิตและการแปรรูป ดังนั้นปัจจัยการผลิตก็คือข้าว ส่วนการแปรรูปในขณะนั้นพบว่ายังมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่อง “การผลิตสุรา หรือเหล้าพื้นบ้าน” ซึ่งสามารถแปรรูปจากผลผลิตจากข้าวได้ และถือเป็นเรื่องสิทธิชุมชนเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงมีการเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องเหล้าพื้นบ้าน จนสามารถผลักดันเป็น พ.ร.บ. สุราชุมชนจนสำเร็จ แต่หลังพ.ร.บ. ประกาศใช้ เครือข่ายจึงแยกกันขึ้นทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เหลือเพียงสหกรณ์แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพียง ๗ แห่งที่ยังยึดโยงเชื่อมประสานกันเป็นเครือข่ายอยู่เช่นเดิม จึงมีการสรุปบทเรียนการทำงานกันอีกครั้ง และเปลี่ยนประเด็นงานพัฒนามาเป็นการพัฒนาต่อยอดเรื่องพลังงานทางเลือก โดยเริ่มจากการผลิตพลังงานไบโอดีเซล เพื่อปรับเปลี่ยนจากการผลิตสุราพื้นบ้าน เป็นการผลิตเอทานอลแทน เพื่อจะใช้ในส่วนผสมในการผลิตไบโอดีเซล เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน หรือต้นทุนทางการเกษตรเรื่องน้ำมัน แทน
ขณะเดียวกันประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ การส่งเสริมและการพัฒนาของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ได้มีการ แยกกระบวนการพัฒนาชุมชนเมือง กับพัฒนาชุมชนชนบท ออกจากกันอย่างชัดเจน ในส่วนของชุมชนเมืองก็มีการจัดตั้งองค์กรการเงิน เพื่อรองรับโครงการสนับสนุนจาก พชม. (ศุภชัย/ภานุวุฒิ) ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ชุมชนราชเดชดำรง ชุมชนดอยตอง ชุมชนสันโค้งหนองเหียง ชุมชนบ้านใหม่ โดยมีแกนนำคือนายธัญญา เด่นตระกูลและนายจีรศักดิ์ สมัยนั้น พชม.ได้สนับสนุนงบประมาณด้านสินเชื่อ การส่งเสริมธุรกิจชุมชน การสนับสนุนเงินให้เปล่า ต่อมาโครงการ Sif เมนู ๕ เรื่องกองทุนพัฒนาอาชีพชุมชน /ทุนผู้ติดเชื้อ /ผู้สูงอายุ และมีการพัฒนาเรื่อยมา เริ่มจาก ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนเมืองเชียงราย เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ เครือข่ายพัฒนาสตรี เครือข่ายองค์กรผู้นำชุมชน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตำบล ดอยลาน ผลที่เกิดจากการดำเนินงานสมัยนั้น องค์กรชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้น สามารถพัฒนาเรื่องการจัดการ บริหารบุคลากร ตั้งกฎกติกา การเคารพซึ่งกันและกัน การวางแผนการเงินและบัญชี ได้โดยองค์กรชุมชนเอง ยกเว้น ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนเมืองเชียงราย ที่ยุบตัวไปเนื่องจากผลกระทบจากการทำธุรกิจ บริษัทชุมชนล้านนา จำกัด (โรงงานนม) ซึ่งองค์กรชุมชนเมืองส่วนใหญ่ไม่ร่วมด้วยเพราะไม่เห็นด้วยในการจัดตั้งในนามบริษัท ซึ่งองค์กรชุมชนเมืองคิดว่าหากมีการจัดตั้งในรูปแบบสหกรณ์ น่าจะเหมาะสมมากกว่าแต่หน่วยงานที่สนับสนุนกลับมองว่าองค์กรชุมชนสามารถบริหารจัดการธุรกิจขององค์ กรได้ ซึ่งหากมีการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนตัดสินใจก็จะพบว่า ของกรชุมชนยังขาดองค์ความรู้ทักษะ ความเชื่ยวชาญในการทำธุรกิจอย่างมาก
ในสมัยนั้นกองทุนต่าง ๆ เน้นเรื่องการพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนเมือง ผลการดำเนินพบว่า อาชีพที่เหมาะสมกับคนจนเมือง คือการค้าขาย เช่น ก๋วยเตี๋ยว หรืองานรับจ้างทั่วไป ส่วนการบริหารจัดการด้าน สินเชื่อที่ผ่านมาองค์ชุมชนเมือง เชื่อได้ว่าต้องสามารถชำระคืนได้อย่างแน่นอน แต่ต้องใช้เวลามากสักนิดหนึ่งเนื่องจากว่า งบประมาณที่สนับสนุนให้กับสมาชิกไป มีการใช้เงินที่ผิดวัตถุประสงค์ไปบ้านเนื่องจากนำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในครอบครัว เนื่องจากประสบกับปัญหาขาดรายได้ที่ต่อเนื่องของครอบครัว ซึ่งหากมีการสนับสนุนงบประมาณด้านสินเชื่อในระยะต่อไป จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้อง สร้างความเข้าใจให้ชัดเจนถึงที่สุดก่อน ก่อนการปล่อยสินเชื่อ
ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๓ มีการพัฒนาเรื่องกระบวนการสินเชื่อ งบประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท หรืองบประมาณมิยาซาวา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องอาชีพ ทุนหมุนเวียน หลังจากนั้นได้มีการก่อตั้ง พอช. ขึ้น แต่ก็มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวกับขบวนการสินเชื่อ จึงมีการโอนภารกิจให้ พอช. ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ พอช.และภาคีเช่น นายภานุวิฒุ นายเทวินทร์ อัครศิลากุล และ นายสุนทร ทอดเสียง มาติดตามงานเพื่อหนุนเสริมกระบวนการทำงานด้วย ชุมชนเมืองได้ดำเนินงานเรื่องออมทรัพย์ สินเชื่อ และเริ่มกระบวนการงานเรื่องที่อยู่อาศัย ใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จากปัญหาการไล่ที่ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ เขตราชพัสดุ หน่วยงานทหาร และที่สาธารณะ
ความสัมพันธ์เรื่องอาชีพ และเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งตอนนั้นคิดแต่เรื่องรายได้ เพื่อใช้ในการใช้จ่ายภายในครอบครัว แต่กระบวนการทำงานที่ผ่านมาจึงเกิดการคิดวิเคราะห์กันมากขึ้น และมองว่าหากมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องเช่าที่ดินหรือที่อยู่อาศัย น่าจะสามารถลดภาระด้านค่าใช้จ่ายและความมั่นคงของชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
ปัญหาของชุมชนเมือง มีความซับซ้อนและแตกต่างหลากหลายมาก สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย โดยแบ่งออกเป็นคนในพื้นที่ดั้งเดิมประมาณ ๕๐% และที่เหลืออีก ๕๐% จะเป็นประชากรแฝง เช่น ประชากรชนเผ่าที่อบยพลงจากพื้นที่สู่ เนื่องจากผลกระทบของนโยบายรัฐแยกคนออกจากป่า และไม่มีรายได้จากการทำเกษตรกรรมจึงเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมืองเพื่อหางานรับจ้างทั่วไป หรือประชากรที่มีการอบยพโยกย้ายมาจากต่างจังหวัด ฯลฯ แต่ที่รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในเขตเมืองมีจำนวน 20-30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพื้นที่เท่านั้น แต่ในส่วนของประชาชนแรงงานต่างด้าวหรืออื่น ๆ ที่ยังไม่มีข้อมูล อาจจะมีการเก็บข้อมูลใหม่ ตามสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อการ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลใหม่ ตามความเป็นจริงที่สุด
ในระยะต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๔๙ จึงเริ่มพัฒนาโครงการเชื่อมขบวนจังหวัด ทั้งฐานเดิมและประเด็นงานอื่นๆ ที่มีขบวนการทำงานที่แตกต่างหลากหลาย อาทิ เช่น ประเด็นงานสวัสดิการชุมชน องค์กรการเงิน สิ่งแวดล้อม พลังงาน ธุรกิจชุมชน แผนแม่บทชุมชน หนี้สินฯลฯ รวมทั้ง 12 ประเด็น เพื่อเชื่อมร้อยองค์กรชุมชนต่างๆ ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน การดำเนินงานในช่วงนั้น จะเน้นเรื่อง การประชุมทุก ๒ เดือน เพื่อนำข้อมูลของแต่ละเครือข่ายมารายงานแจ้งเพื่อทราบ จึงเกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาข้อมูลประเด็น และพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ระดับพื้นที่ เพื่อยกระดับองค์กรชุมชนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบต่อไป
สำหรับคณะทำงานส่วนหนึ่งของขบวนจังหวัด ได้เข้าร่วมกับสมัชชาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย (สอท.) ในการผลักดันกฎหมายสภาองค์กรชุมชนตำบล ปี พ.ศ.......ประมาณช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๐ จึงเป็นการทำงานจากล่างสู่บนและจากบนสู่ล่าง ตลอดจนมีการเตรียมการและนำการพูดคุย วิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับงบประมาณในการสนับสนุนขบวนจังหวัด ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงมีการนำข้อมูล ๑๒ ประเด็นงานสู่การวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนกัน มีการพัฒนาคณะทำงานเรื่องนักจัดกระบวนการ พัฒนากระบวนการเรียนรู้สื่อ การเก็บข้อมูลและงานวิจัยชุมชน การวิเคราะห์เพื่อการพัฒนาแผนระดับพื้นที่ตำบลและระดับลุ่มน้ำย่อย และพัฒนากลไกการขับเคลื่อนที่มีรูปธรรม การวิเคราะห์ร่วมสู่การแก้ไขปัญหาร่วมระดับจังหวัด แต่การวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างชุมชนเมืองและ ชนบทอาจจะยังไม่ลึกพอ จึงไม่เห็นความซับซ้อนหรือเกี่ยวโยงกันของปัญหา แต่การทำงานขบวนจังหวัดกำลังเกิดการยอมรับ พร้อม ๆ กับการวิเคราะห์งานขบวนเพื่อจัดตั้งสภาฯ ยกฐานะสถานภาพองค์กรชุมชนให้ได้รับการยอมรับทางกฎหมายในการเชื่อมประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ แต่กระบวนการทำงานภายใต้โครงสร้างของสภาองค์กรชุมชนตำบล มีการรับรู้และเข้าใจอยู่ในระดับแกนนำชุมชนเท่านั้น และยังมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งทำความเข้าใจกับสมาชิกองค์กรชุมชนให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสมาชิกองค์กรชุมชนจะเข้าใจและเห็นความสำคัญของสภาองค์กรชุมชนมากขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์หรือผลการดำเนินงานเอื้อประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาขององค์กรชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น สำหรับพื้นที่ที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลส่วนใหญ่ได้มีเป้าหมายสำคัญในการจัดตั้งสภาฯ ก็คือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน

๓. การก่อเกิดสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดเชียงราย
จากการเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายฉบับประชาชน ของสมัชชาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย (สอท.) พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนมีหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนตำบล ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งกลุ่มองค์กรชุมชนและเครือข่าย พยามยามใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญปีพ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากฐานล่าง ซึ่งมีตัวแทนของเครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเข้าร่วมการเคลื่อนไหวผลักดันพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๑ จำนวน 3 คน คือนายวิรัตน์ พรมสอน นายประนอม เชิมชัยภูมิและนางวิไล คำเงิน ในระยะต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนตำบล ภาคเหนือและคณะทำงานขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน จังหวัดเชียงราย
ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๑ มีขบวนการ ภาคประชาชนของกลุ่มองค์กรฯ เครือข่ายฯ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชน จังหวัดเชียงราย ภายใต้ชื่อ ศูนย์ขจัดความยากจนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคประชาชน (ศจพ.) จังหวัดเชียงราย ที่ผ่านมาได้เกิดพื้นที่รูปธรรมขึ้นอย่างมากมาย ตามประเด็นงาน ตามบริบทของสภาพภูมินิเวศของแต่ละพื้นที่ และตามความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในเรื่อง การจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า การจัดการที่ดิน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน การส่งเสริมสวัสดิการชุมชนและการออมเงิน การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย การสร้างเสริมรายได้และมีงานทำในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน การทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน และการใช้สื่อชุมชนในการขยายแนวคิดการทำงาน ในรูปแบบ วิทยุชุมชน หรืองานวิจัยชุมชน จนเกิดองค์ความรู้ในการพัฒนา การจัดการโดยชุมชน และยกระดับขึ้นเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 11 พื้นที่ โดยสภาองค์กรชุมชนเทศบาลนคร 1 แห่ง สภาองค์องค์กรชุมชนตำบล 10 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ มีกลุ่มองค์กรชุมชนและเครือข่ายจำนวน 281 แห่ง สมาชิกรวมทั้งสิ้น 28,782 คน

พื้นที่การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลมาจากฐานการทำงานพัฒนา ที่หลากหลายประเด็นงานทั้งที่ผ่านกระบวนการทำงานของกองทุนพัฒนาเพื่อสังคม (SIF) เช่น กลุ่มออมทรัพย์มิตรชุมชน ศูนย์ประสานงานเมืองเชียงราย (ศป.ชร.) กลุ่มองค์กรชุมชนที่เคยทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เช่น เครือข่ายทรัพยากรที่ดินลุ่มน้ำโดด (บ้านหินลาดใน บ้านผาเยือง บ้านหินลาดนอก) เครือข่ายทรัพยากรขุนน้ำแม่กรณ์ ชุมชนบ้านสมานมิตร ฯลฯ และกลุ่มองค์กรที่มีการจัดตั้งเครือข่ายขึ้นมาภายหลัง เช่น เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดเชียงราย เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพึ่งตนเอง จังหวัดเชียงราย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น